คุณนาตยา เสถียรพานิช
นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสุขศึกษา โรงพยาบาลนครปฐม
ความเข้าใจที่ว่าบุคลากรทางการแพทย์มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอยู่แล้วนั้น ด้านหนึ่งก็ถูก แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เรารู้หลักการแต่บางเรื่องเรารู้ไม่จริง ไม่เหมือนการรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้ลองทำ
ในโครงการกินผัก-ผลไม้ 400 กรัมนี้ มีช่วงที่พวกเราต้อง focus การกินผักให้ได้วันละ 400 กรัม ต่อเนื่อง 21 วัน มันทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เคยรู้ หรือไม่เคยคิดว่ามันสำคัญหรือน่าสนใจ เช่น ปกติตัวพี่เองกินผักอยู่แล้วในชีวิตประจำวันและไม่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาอะไร เราเข้าโครงการเพราะเราอยากได้ความรู้เพิ่มขึ้น (ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่าอยากได้ความรู้อะไร) พอตัดสินใจร่วมโครงการ ก็เลยชักชวนเพื่อนร่วมงานในโรงพยาบาลที่ต้องรับผิดชอบสายงานต่างๆ ให้เข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน จะได้ช่วยกันผลักดันงานต่อไปในอนาคต เช่น เจ้าหน้าที่ด้านเวชกรรมสังคม เจ้าหน้าที่แผนกอาชีวะ เจ้าหน้าที่ด้านโภชนาการ
การรู้ด้วยประสบการณ์มีแรงส่งมากกว่าการรู้ผ่านหนังสือ เช่น เราอาจจะเคยรู้ว่าต้องกินผัก-ผลไม้วันละ 400 กรัม เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรค NCDs หรือ คนที่มีความเสี่ยง NCDs ควรจะลดการกินอาหารหวาน มัน เค็ม --- เรารู้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่รู้หรอกว่า 400 กรัม มันแค่ไหน ตัวเองซื้อผักลวกจิ้มน้ำพริก แบบกองละ 10 บาทเป็นประจำ แต่เราไม่เคยรู้ว่าผัก 10 บาทนั้นได้กี่กรัม ไม่รู้ว่ามะเขือเปาะ 1 ลูกหนักสักเท่าไร แตงกวา 1 ผล หนักกี่กรัม แต่พอเข้าโครงการ 21 วัน เรารู้ เพราะเราต้องชั่งเป็นประจำ เมื่อรู้บ่อยๆ ต่อมาก็รู้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องจำ เพราะเราทำไปเรื่อยๆ จนเป็นนิสัย จากนั้นก็กะเองได้ ตอนนี้เราสอนคนไข้ได้ แนะนำได้ และหาทางออกให้เขาได้ เพราะปัญหาที่เขามีก็เหมือนที่เราเคยมี
เมื่อจบ 21 วัน โครงการฯ จัดกระบวนการถอดบทเรียน เราอาจจะเคยรู้มาบ้างว่าการกินผัก-ผลไม้ ช่วยในเรื่องการขับถ่ายแต่เราไม่มีประสบการณ์จริง ในวันถอดบทเรียน ทุกคนต่างก็พูดว่าการกินผัก-ผลไม้ส่งผลต่อการขับถ่ายจริงๆ ขับถ่ายสะดวก ตรงเวลา บางคนก็บอกว่าเคยต้องใช้ยาระบายเขาก็ไม่ต้องใช้ยาแล้ว แต่ที่น่าทึ่งที่สุดคือ มีเพื่อนร่วมงาน 2 คน ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ คนแรกหลับไม่ดี ส่วนอีกคนนอนละเมอและรู้สึกว่ามีปัญหาการนอนจนเตรียมจะไปพบแพทย์ด้านจิตเวช แต่พอร่วมในโครงการนี้เขาหลับดี หลับลึก สบายใจ ไม่ต้องไปหาหมอแล้ว ซึ่งตัวเองรู้สึกทึ่ง มันน่าแปลกใจ
เราขออนุญาตผู้อำนวยการโรงพยาบาลตั้งชมรมคนรักผัก เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์จากการกินผัก-ผลไม้วันละ 400 กรัม ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ตรงของพวกเราสู่บุคลากรในโรงพยาบาล ส่งเมนูเกี่ยวกับผัก-ผลไม้ เข้าไลน์กลุ่ม เปิดรับสมาชิกชมรมเพิ่มเติม และขออนุญาตจัดตลาดนัดให้ขายผัก-ผลไม้ปลอดภัยทุกวันอังคาร ---สิ่งสำคัญหนึ่งที่บุคลากรไม่ได้กินผักเพราะพวกเราเข้าไม่ถึงผัก-ผลไม้ ร้านขายอาหารมีผักน้อย บางคนก็กังวลเรื่องความปลอดภัย การมีตลาดนัดผักปลอดภัยเป็นตัวช่วยที่ดี ซึ่งเราก็ขอโบรชัวร์ เอกสาร จากโครงการกินผักผลไม้ดี 400 กรัม เอามาเผยแพร่ด้วย
โรงพยาบาลของเรามีโครงการอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยมีผัก แต่หลังจากเราทำโครงการฯ เพื่อนที่ดูแลงานส่วนนี้ก็ไปผลักดันให้มีผักในโครงการอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ ตอนนี้มีผักเยอะพอสมควร ให้ทุกคนเลือกตัก เลือกหยิบตามสบาย ซึ่งได้รับความนิยมมาก บางคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยเบาหวาน หรือ NCDs ก็ได้ใช้ความรู้ของตัวเองไปบอกคนไข้ ซึ่งมันมีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ และง่าย เมื่อก่อนเรามักจะให้คนไข้เปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามกินหวาน ห้ามกินเค็ม ห้ามขนม ตอนนี้เราไม่ได้พูดอย่างนั้น บอกเพียงแค่ว่า ทุกมื้อของอาหารขอให้มีผักครึ่งจานและให้กินผักก่อน ให้เคี้ยวนานๆ ซึ่งมันมาจากประสบการณ์ของเราที่ว่า พอกินผักก่อน เราก็กินอย่างอื่นน้อยลง อยากของหวาน ของรสจัดน้อยลง ไม่ต้องห้าม ไม่ต้องทะเลาะกัน แค่ชวนให้ลองทำ แล้วผลก็จะตามมา